ปี 2017 คนจบปริญญาตรี ตกงานมากที่สุด
แม้ประเทศไทยจะประสบความสำเร็จในการผลักดันให้คนในประเทศมีระดับการศึกษาที่สูงขึ้น ทุกรัฐบาลต่างให้การสนับสนุนการศึกษาอย่างเต็มที่ กระทรวงศึกษาธิการเองก็เป็นหนึ่งในกระทรวงที่ได้รับงบประมาณในแต่ละปีมากที่สุด แต่ดูเหมือนการศึกษาที่สูงขึ้นจะไม่ช่วยอะไร เมื่อสถิติล่าสุดจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รายงานว่าคนที่จบการศึกษาในระดับปริญญาตรี มีอัตราการว่างงานสูงกว่าคนที่จบการศึกษาในระดับที่ต่ำกว่า ถือเป็นเรื่องน่าแปลก และชวนให้ตั้งคำถามว่าในขณะที่อัตราการเกิดที่ลดลง และระดับการศึกษาที่เพิ่มขึ้น กลับไม่ช่วยให้อัตราการว่างงานของคนในประเทศลดลงเสียอย่างนั้น และสิ่งเหล่านี้กำลังจะบอกเราว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกันแน่? สำนักงานสถิติแห่งชาติเปิดเผยถึงจำนวนผู้ว่างงานในเดือนมกราคม 2016 มีประมาณ 347,000 คน และกลายเป็น 449,000 คน ในเดือนมกราคม 2017 นั้นหมายถึงมีคนว่างงานเพิ่มขึ้นกว่า 100,000 คน ในระยะเวลาเพียง 1 ปี เป็นการเพิ่มขึ้นของคนว่างงานที่จบการศึกษาระดับอุดมศึกษามากที่สุด ขณะที่คนในภาคอีสาน (ตะวันออกเฉียงเหนือ) เป็นภูมิภาคที่มีอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นสูงที่สุด และคนหันหลังเลิกทำการเกษตรกันมากที่สุด ทำให้ภาคการเกษตรมีจำนวนคนทำงานน้อยลงมากที่สุด แต่สิ่งที่เราจะโฟกัส และให้ความสนใจกัน คือ อัตราว่างงานเปรียบเทียบกันระหว่างระดับการศึกษา จากสถิติเดียวกันนี้เองเราพบว่า ยิ่งระดับการศึกษาสูงขึ้นเท่าไหร่ การว่างงานก็ยิ่งเพิ่มขึ้นเท่านั้น ในจำนวนผู้ว่างงานทั้งหมด ประมาณ 449,000 คน เราพบว่า เป็นคนที่จบการศึกษาระดับอุดมศึกษามากที่สุด ประมาณ 160,000 คน ลดหลั่นกันลงไป อย่างไรก็ตาม ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ได้ให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ THE MOMENTUM ว่าอัตราการว่างงานที่ประมาณ …