สืบ นาคะเสถียร นักอนุรักษ์ธรรมชาติ
สืบ นาคะเสถียร เป็นนักอนุรักษ์และนักวิชาการด้านทรัพยากรธรรมชาติชาวไทย มีชื่อเสียงจาการพยายามปกป้องแก่งเชี่ยวหลานและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง และการฆ่าตัวตายเพื่อ
เรียกร้องให้สังคมเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
- เกิดเมื่อ: 31 ธันวาคม 2492, จังหวัดปราจีนบุรี
- เสียชีวิตเมื่อ: 1 กันยายน 2533, ขาแข้ง อุทัยธานี
จุดเริ่มต้น ตำนานนักอนุรักษ์
วันที่ 1 กันยายน 2533 เสียงปืนดังขึ้นบริเวณบ้านพักในอุทยานห้วยขาแข้ง
โดยที่ไม่มีใครคาดคิดว่าต้นตอของเสียงปืนมาจากการเหนี่ยวไกสังหารตัวเองของ
สืบ นาคเสีถยร โดยหวังให้ประกายไฟผ่านปืนกระบอกนั้น ได้สว่างขึ้นเพื่อให้คนไทยทั้งประเทศหันมา
ให้ความสนใจในการอนุรักษณ์ผืนป่าของไทย
สองอาทิตย์ต่อมา ภายหลังจากที่ข่าวการเสียชีวิตของหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งเป็นข่าวพาดหัวหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ติดต่อกันหลายวัน ห่างจากบริเวณที่เกิดเสียงปืน ไม่กี่สิบเมตร ข้าราชการระดับสูงจากกรมป่าไม้ นายอำเภอ ป่าไม้เขต ผู้ว่าราชการจังหวัด นายทหาร นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ และเจ้าหน้าที่อีกนับร้อยคน ต่างรีบเร่งมาประชุมกันที่ป่าห้วยขาแข้ง เพื่อร่วมประชุมปรึกษาหารือในการป้องกันการทำลายเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งอย่างแข็งขัน สืบ นาคะเสถียร รอวัคอยนนี้มาตั้งแต่วันแรกที่เขามาดำรงตำแหน่งหัวหน้าเขต ป่าห้วยขาแข้ง เมื่อเก้าเดือนก่อน
หากไม่มีเสียงปืนในราวป่านัดนั้น การประชุมในวันนั้นคงไม่เกิดขึ้นเช่นกัน……..
สาเหตุที่สืบต้องการพลีชีพ
มีข้อสงสัยมากกมาย เกี่ยวกับการตัดสิดใจ พลีชีพ หรือ ฆ่าตัวตายของ “สิบ นาคะเสถียร” เพราะ นายสืบ เป็นบุคคลที่มีอุดมการณ์ชีวิต เรียนจบ ป.โท จากลอนดอน และเข้ารับราชการในตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จึงเกิดความสงสัยในสาเหตุการยิงตัวตายเป็นอย่างมาก
เกิดคำถามขึ้นมากมาย โดยเฉพาะ วัยรุ่นสมัยใหม่ ที่ไม่เข้าใจ เกี่ยวกับการพลีชีพ เพื่อปกป้องผืนป่า ของสืบ โดยการตั้งกระทู้คำถามในเว็บไซต์ชื่อดังอย่าง Pantip.comทั้งนี้ กระผมเองผู้เขียนบทความ ขออนุญาติ นำเสนอ เรื่องราวของ คุณวัยชัย ตัน อดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี ผู้เคยไขความกระจ่างไว้แล้วดังนี้
วันก่อนผมเปิดดูในเว็บของพันธุ์ทิพย์ มีคนตั้งกระทู้เข้ามาในหัวข้อ “สาเหตุที่คุณสืบต้องพลีชีพ” ปรากฏว่าคนที่แสดงความคิดเห็นเป็นคนแรก ใช้ชื่อว่าคุณสิ้นคิด ได้เขียนว่า “อย่าไปโทษใครเลย แกเป็นคนสิ้นคิดมากกว่า การฆ่าตัวตาย ผมว่าเป็นคนสิ้นคิดจริงๆ”
อันที่จริงก็คงไม่มีใครรู้อย่างถ่องแท้นอกจากตัวคุณสืบเองว่า สาเหตุการที่แกต้องตัดสินใจฆ่าตัวตายเป็นเพราะอะไร แต่ในทรรศนะของผมซึ่งพอจะมีความคุ้นเคยและเคยร่วมงานกับแกมาหลายปี ขอเปรียบการตายของแกไว้ดังนี้
..หากมีวันหนึ่ง คุณถูกคนร้ายจับไปล่ามโซ่ เมียของคุณกำลังถูกคนร้ายข่มขืน คุณไม่สามารถจะช่วยเหลือคนรักของคุณได้ คุณดิ้นสุดขีดแต่ไร้ผล คุณตะโกนก้องเพื่อให้คนอื่นมาช่วย แต่คนเหล่านั้นแกล้งทำไม่ได้ยิน
บางคนบอกว่าให้คุณช่วยตัวเองไปก่อน คุณดิ้นพล่านเมื่อเมียรักร้องครวญด้วยความเจ็บปวด แต่ไม่มีใครสนใจ
แล้วสุดท้ายคุณก็มิอาจทนกับสภาพอันบัดซบที่เกิดขึ้นต่อหน้าคุณโดยที่คุณไม่อาจช่วยเมียอันเป็นที่รักยิ่งได้ และถึงเวลานั้นคุณแทบไม่อยากจะมีชีวิตอยู่ต่อไปคุณอาจเลือกทำร้ายตัวเอง เพื่อบอกให้โลกรับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตของครอบครัวคุณ
คนส่วนใหญ่อาจมีชีวิตเพื่อครอบครัวและตัวเอง แต่สำหรับสืบ นาคะเสถียร แล้วเขารักและหวงแหนชีวิตของสัตว์ป่าและผืนป่ามากกว่าตัวเองและครอบครัวเสียอีก ที่ผ่านมาเขาทุ่มเททั้งชีวิตเพื่อสิ่งอันเป็นที่รักยิ่ง เขาวิ่งพล่านไปทั่วประเทศเพื่อบอกให้ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองนี้รู้ว่า อะไรเกิดขึ้นกับสัตว์ป่าและผืนป่าธรรมชาติ…แต่ไม่มีใครสนใจ
สืบเป็นคนมุ่งมั่นในการทำงานอย่างแรงกล้า แต่ความมุ่งมั่นของเขาถูกทำลายลงอย่างย่อยยับ จากระบบราชการไทยและผู้ใหญ่ที่ ไม่เคยสนใจปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติอย่างจริงจัง
เขาเคยปรึกษาแม่ว่าอยากจะลาออกและไปบวช แต่เขาก็ทำไม่ได้ เพราะการลาออกเป็นการทรยศต่อตัวเอง ต่อป่าห้วยขาแข้งและต่อลูกน้องของเขาด้วยแต่การมีชีวิตอยู่ต่อไปก็ไม่อาจทำให้ความมุ่งมั่นและความฝันของเขาเป็นจริงได้ สืบ นาคะเสถียร ไม่เคยทรยศต่อความมุ่งมั่นและหลักการของตัวเอง
บางทีการฆ่าตัวตายอาจเป็นเพียงวิธีเดียวที่จะทำให้ความมุ่งมั่นของเขาเป็นจริงได้ และไม่สนใจเลยหากจะมีใครกล่าวหาในภายหลังว่า “เขาเป็นคนสิ้นคิด”
ประวัติย่อ
- 2492 สืบ นาคะเสถียรเกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 31 ธันวาคม ที่ตำบลท่างา อำเภอเมืองจังหวัดปราจีนบุรี
เป็นลูกของนายสลับ นาคะเสถียร อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีน และนางบุญเยี่ยม
นาคะเสถียร มีพี่น้องทั้งหมดสามคน - 2502 สืบมีนิสัยทำอะไรมักจะทำให้ได้ดีตั้งแต่เด็ก และเมื่อจบประถม 4 สืบได้ย้ายไปเรียนโรงเรียนเซ็นต์หลุยส์ จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นนักเป่าทรัมเป็ตมือหนึ่ง และนักวาดภาพฝีมือดีของโรงเรียน
- 2510-2514 สืบอยากเรียนสถาปัตยกรรมเพราะชอบด้านศิลปะ แต่มาสอบติดคณะวนศาสตร์
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์รุ่นที่ 35 - 2516-2517 เมื่อสำเร็จการศึกษาได้เข้าทำงานที่ส่วนสาธารณะการเคหะแห่งชาติ
และไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท สาขาวนวัฒน์วิทยา คณะวนศาสตร์ - 2518 สอบเข้ากรมป่าไม้ได้ แต่เลือกที่จะมาทำงานที่กองอนุรักษ์สัตว์ป่าโดยไปประจำที่เขต
รักษาพันธุ์ สัตว์ป่า เขาเขียว-เขาชมพู่จังหวัดชลบุรี - 2522 ได้รับทุนจาก British Council ไปเรียนปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยลอนดอน
ประเทศอังกฤษในสาขาอนุรักษ์วิทย - 2524 ดำรงตำแหน่งหัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบางพระ และเริ่มงานวิจัยชิ้นแรก
คือการศึกษาการทำรังวางไข่ของนกบางชนิด ที่อ่างเก็บน้ำบางพระ จังหวัดชลบุรี - 2528 เดินทางไปทำวิจัยเรื่องกวางผา กับดร.แซนโดร โรวาลี ที่ดอยม่อนจองในบริเวณ
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ และเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ป่า
จนเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าเสียชีวิต สร้างความสะเทือนใจให้แก่สืบมาก - 2529 หัวหน้าโครงการอพยพสัตว์ป่าในเขื่อนเชี่ยวหลาน จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีสัตว์นับพันตัวได้รับความช่วยเหลือ แต่สืบรู้ดีว่ามีสัตว์อีกนับจำนวนมหาศาลที่ตายจากการสร้างเขื่อน และในระหว่างนั้น สืบได้ค้นพบรังนกกระสาคอขาวปากแดงครั้งแรกในประเทศไทย
- 2530 สืบได้เปลี่ยนบทบาทจากนักวิชาการไปสู่นักอนุรักษ์ โดยเข้าร่วมต่อสู้คัดค้านการสร้างเขื่อนน้ำโจน จังหวัดกาญจนบุรี สืบชี้ให้เห็นถึงบทเรียนจากการที่มีสัตว์จำนวนมาก ล้มตายหลังจากการสร้างเขื่อนเชี่ยวหลาน สืบเริ่มต้นอภิปรายทุกครั้งว่า “ผมขอพูดในนามของสัตว์ป่า”
- 2531 สืบและเพื่อนอนุรักษ์ออกโรงคัดค้านการที่บริษัทไม้อัดไทยจะขอสัมปทานทำไม้ ที่ป่าห้วยขาแข้ง สืบได้อภิปรายว่า “คนที่อยากอนุญาตให้ทำไม้ก็เป็นกรมป่าไม้ คนที่จะรักษาก็เป็นกรมป่าไม้เหมือนกัน”
- 2532 สืบได้รับทุน เรียนต่อปริญญาเอกที่ประเทศอังกฤษ แต่ตัดสินใจเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง สืบพบปัญหาต่างๆมากมายในห้วยขาแข้ง อาทิ ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า การล่าสัตว์ของบุคคลที่มีอิทธิพล เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าถูกยิงเสียชีวิต ปัญหาความยากจนของชาวบ้านรอบป่า และที่สำคัญคือปัญหาเหล่านี้ไม่เคยได้รับความสนใจจากผู้ใหญ่เลย สืบจึงทุ่มเทเขียนรายงานนำเสนอยูเนสโก เพื่อพิจารณาให้ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและห้วยขาแข้งเป็นมรดกโลก อันเป็นสิ่งค้ำประกันให้พื้นที่แห่งนี้ได้รับการคุ้มครองเต็มที่
1 กันยายน 2533 สืบสะสางงาน และเขียนพินัยกรรมไว้เรียบร้อย ก่อนกระทำอัตวิบาตรกรรม(ยิงตัวตาย) เพื่อเรียกร้องให้สังคมและราชการหันมาสนใจปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ อย่างจริงจัง
18 กันยายน 2533 ผู้ใหญ่และพ้องเพื่อนนักอนุรักษ์ ได้ร่วมกันก่อตั้งมูลนิธิสืบนาคะเสถียร
เพื่อสืบทอดเจตนารมณ์ของสืบ
26 เมษายน 2536 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จพระราชดำเนินมาที่เขต
รักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เพื่อทรงเปิดอนุสรณ์สถนสืบนาคะเสถียร
2542 มี การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศว่า ในรอบ 50 ปี ท่านเสียดายการจากไปของสามัญชนผู้ใดมากที่สุด ปรากฏว่า สืบ นาคะเสถียร ติดอับดับที่ 2
แนวคิดของสืบ
แนวความคิดเรื่องการอนุรักษ์สัตว์ป่า การอนุรักษ์สัตว์ป่าในประเทศไทย จะสามารถ ประสบผลสำเร็จได้ต้องอาศัยความเข้าใจ และความจริงใจต่อการอนุรักษ์ป่าธรรมชาติ ที่ยังเหลืออยู่ประมาณร้อยละ 20 ของพื้นที่ทั้งประเทศ ไม่เช่นนั้นแล้วจำนวนชนิดของสัตว์ป่าที่หายากและกำลังจะสูญพันธุ์เหล่านี้ก็ จะต้องสูญไป พร้อมกับการบุกรุกทำลายป่า
ทั้งในรูปแบบของการพัฒนาที่ต้องตัดป่า ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าออกและรวมถึงการยึดถือครอบครองพื้นที่ป่า เพื่อกิจการอื่น ๆแนวความคิดเรื่องการรักษาป่า ผมว่าประเทศไทยถ้าสามารถเก็บป่าธรรมชาติเอาไว้ได้ประมาณร้อยละ ๒๐ แล้วเราใช้อย่างถูกต้อง หมายถึง เก็บเอาไว้เพื่อให้มันอำนวยประโยชน์ในแง่ของการควบคุมสภาวะแวดล้อมอะไรต่าง ๆ เป็นแหล่งผลิตของธาตุอาหาร หรือความอุดมสมบูรณ์ให้กับพื้นที่ลุ่มน้ำตอนล่าง ถ้าเราใช้ป่าทั้งหมดที่เป็นแหล่งกำเนิดของความอุดมสมบูรณ์ไปแล้ว เราจะไปหาความอุดมสมบูรณ์ได้ที่ไหน
แนวความคิดเรื่องการอนุรักษ์และพัฒนา
แต่ อย่างไรก็ตามการอนุรักษ์ทรัพยากรอย่างใดอย่างหนึ่ง มิได้หมายถึงการเก็บรักษา โดยไม่นำมาใช้ประโยชน์ แต่เป็นการใช้อย่างถูกต้องโดยวิธีที่จะใช้ทรัพยากรที่เหลือ อยู่ดังกล่าว สามารถอำนวยประโยชน์ไม่เฉพาะทางใดทางหนึ่ง แต่สามารถอำนวยประโยชน์ให้ในทุก ๆ ด้าน และยังคงมีเหลืออยู่มากพอที่จะเป็นทุนให้เกิดการพอกพูนขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้ อีก และยั่งยืนต่อไปในอนาคต ดังนั้น ผลที่จะเกิดขึ้นจากการอนุรักษ์ มิได้เป็นประโยชน์เฉพาะคนที่อยู่ในปัจจุบันเท่านั้น แต่ยังคงสามารถอำนวยประโยชน์ต่อไปชั่วลูกชั่วหลานต่างหาก
ผลงาน
“เสียงปืนที่ดังลั่น ตัวแม่นั้นต้องสิ้นใจ
ลูกน้อยที่กอดไว้ กระดอนไปเพราะแรงปืน
ฝืนใจเข้ากอดแม่ หวังแก้ให้แม่ฟื้น
แม่จ๋าเพราะเสียงปืน จึงไม่คืนชีวิตมา
โทษไหนจึงประหาร ศาลไหนพิพากษา
ถ้าลูกท่านเป็นสัตว์ป่า ใครเข่นฆ่าท่านยอมไหม
ชีวิตใครใครก็รัก ท่านประจักษ์หรือไม่
โปรดเถิดจงเห็นใจ สัตว์ป่าไซร้ก็เหมือนกัน”
สืบ นาคะเสถียร
1 พ.ค. 2518
คำสั่งสุดท้าย
เช้าวันที่ 1 กันยายน 2533 สืบ นาคะเสถียร ได้ชำระสะสางภาระหน้าที่รับผิดชอบและทรัพย์สินส่วนตัวที่คั่งค้าง มอบหมายเครื่องใช้ และอุปกรณ์ต่างๆให้กับคนสนิทใกล้ชิดเป็นผู้ดูแล และเป็นธุระส่งคืนเจ้าของ
และกลายเป็นจุด เริ่มต้นตำนานแห่งนักอนุรักษ์ …
สืบ นาคะเสถียร นักอนุรักษ์ไทย ผู้ที่รักป่าไม้และธรรมชาติด้วยกาย วาจา และใจ..
วีดีโอประกอบเพลง สืบทอดเจตนา จัดทำไว้เพื่อเป็นเกียรติประวัติแด่ คุณสืบ นาคะเสถียร เนื่องในวันที่ 1 กันยายน ครบรอบการเสียชีวิตของคุณสืบ นาคะเสถียร ผู้จุดประกายให้เกิดวงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมขึ้นในเมืองไทย
จัดทำโดย : ว่าที่ร้อยโทสราวุฒิ สารคำ ประธานอาสาสมัครพิทักษ์สิ่งแวดล้อม
ศิลปินผู้ขับร้อง : คารบาว
ขอบคุณแหล่งข้อมูลอ้างอิง
- www.seub.or.th : มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
- club.sanook.com : สาเหตุการเสียชีวิตของสืบ
- คุณวัยชัย ตัน : ผู้ไขข้อสงสัยสาเหตุการเสียชีวิต
- ขอบคุณรูปภาพจาก : มูลนิธิสืบนาคะเสถียร